2555/08/28

วินัยคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู







วินัยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู

                  การประเมินวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู เพื่อให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ(ชำนาญการพิเศษ) จะประเมินใน 6 เรื่อง ได้แก่
                  1.พฤติกรรมการรักษาระเบียบวินัย ได้แก่ การควบคุมการประพฤติปฏิบัติของตนเองให้อยู่ในกฎระเบียบของหน่วยงานและสังคมในกรณีมีความรับผิดชอบและซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ
                  2.การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ พฤติกรรมการปฏิบัติทั้งพฤติกรรมส่วนตนและพฤติกรรมการปฏิบ้ติงาน ทั้งในเรื่องความสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
                  3.การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ได้แก่ การประพฤติปฎิบัติตนในการดำรงชีวิตที่ยึดหลักความพอเพียง การหลีกเลี่ยงอบายมุข การรู้รักสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
                  4.ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ ได้แก่ ความพึงพอใจและอุทิศเวลาในการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ โดยมุ่งผลสำเร็จที่เป็นความเจริญก้าวหน้าของการจัดการศึกษา
                  5.ความรับผิดชอบในวิชาชีพ ได้แก่ การปฏิบัติงานในหน้าที่โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริต และผลประโยชน์ของหน่วยงานและผู้รับบริการเป็นสำคัญ
                  6.ค่านิยม และอุดมการณ์ของความเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ 



          วินัยและการรักษาวินัย                 

                  1.ครูต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ
                  2.ครูต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธ์ใจและมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองเช่นว่านั้น
                  3.ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสมอภาคและเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการและต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
                  4.ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถืประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนและไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
                  5.ครูต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง
                  6.ครูต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียนจะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้ การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยร้ายแรง
                  7.ครูต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียนและระหว่างข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ ต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ
                  8.ครูต้องไม่กลั่นแกล้ง กล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง
                  9.ครูต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรม หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่รชการของตน
                  10.ครูต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบหรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นหรือจ้างวานให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขี้น การฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
                  11.ครูต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
                  12.ครูต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด
                  13.ครูต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว


          จรรยาบรรณของวิชาชีพครู                 

                  1.ครูต้องประพฤติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพและแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ
                  2.ครูต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
                  3.ครูต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ
                  4.ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์และผู้รับบริการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
                  5.ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
                  6.ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ หรือผู้รับบริการ
                  7.ครูต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาคโดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
                  8.ครูต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
                  9.ครูต้องประสงค์ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


           คุณธรรม จริยธรรมของครู                

                  จริยธรรมเป้าหมายทั้งหมดมี 20 ประการ คือ
                  1.ครูต้องมีความขยันหมั่นเพียร
                  2.ครูต้องมีวินัยตนเอง
                  3.ครูต้องรู้จักปรับปรุงตนเอง
                  4.ครูต้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
                  5.ครูต้องบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชน
                  6.ครูต้องเสียสละเพื่อสาธารณะประโยชน์
                  7.ครูต้องรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
                  8.ครูต้องมีความกตัญญูกตเวที
                  9.ครูต้องไม่ประมาท
                  10.ครูต้องปฏิบัติต่อผู้อาวุโสในทางที่ดี
                  11.ครูต้องมีสัจจะและแสดงความจริงใจ
                  12.ครูต้องมีความเมตตากรุณา
                  13.ครูต้องมีความอดทน อดกลั้น
                  14.ครูต้องมีความซื่อสัตย์
                  15.ครูต้องมีระเบียบวินัยและตรงต่อเวลา
                  16.ครูต้องมีการให้อภัย
                  17.ครูต้องประหยัดและอดออม
                  18.ครูต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
                  19.ครูต้องมีความรับผิดชอบ
                  20.ครูต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

สมรรถนะของครู

                  การประเมินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีและเลื่อนวิทยฐานะจะต้องประเมินสมรรถนะ 2 ด้าน ดังนี้


                  1.สมรรถนะหลัก ประกอบด้วย               

                    1.1การมุ่งผลสัมฤทธิ์ ได้แก่ ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้มีคุณภาพถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีการพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
                    1.2การให้บริการที่ดี ได้แก่ ความตั้งใจในการปรับปรุงระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ
                    1.3การพัฒนาตนเอง ได้แก่ การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ติดตามองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงวิชาการและวิชาชีพเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางาน
                    1.4การทำงานเป็นทีม ได้แก่ การให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือสนับสนุน เสริมแรงให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมงาน การปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นหรือแสดงบทบาทผู้นำ ผู้ตาม ได้อย่างเหมาะสม

                  2.สมรรถนะประจำสายงาน

                    2.1การออกแบบการเรียนรู้ ได้แก่ ความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้และนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างได้ผล
                    2.2การพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์และสุขภาพกาย จิตที่ดีให้ผู้เรียนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข
                    2.3การบริหารจัดการชั้นเรียน ได้แก่ การจัดบรรยากาศการเรียนการสอน การทำข้อมูลสารสนเทศและเอกสารประจำชั้นเรียน/ประจำวิชาและการกำกับชั้นเรียนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เต็มศักยภาพและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น



2555/08/16

ประวัติพระพุทธศาสนา

ประวัติพระพุทธศาสนา



 พระพุทธศาสนา (Buddhism) คือ ศาสนาที่ถือว่าธรรมะเป็นความจริงสากล ที่ใครก็ตามหากสิ้นกิเลสก็จะพลได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้ และสามารถตั้งพุทธบริษัทปัจจุบันขึ้นได้ คือ พระพุทธโคตม ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในบรรดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายที่ได้เคยตั้งพุทธบริษัทมาแล้ว และที่จะตั้งต่อไปในอนาคต ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากที่ตรัสรู้แต่ไม่มีบารมีพอให้ตั้งพุทธบริษัทได้ จึงให้ผลเฉพาะตัวเรียกว่า ปัจเจกพุทธเจ้า
   จึงเห็นได้ว่า จากความสำนึกดังกล่าวข้างต้น ทำให้ชาวพุทธมีใจกว้าง เพราะถือเสียว่าธรรมะมิได้มีในพระพุทธศาสนาของพระโคตมเท่านั้น แต่คนดีทั้งหลายก็อาจจะพบธรรมะบางข้อได้ และแม้แต่ชาวพุทธเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารถนาให้แสวงหาและเข้าใจธรรมะด้วยตนเอง พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง คือ ผู้ช่วยเกื้อกูลให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเองในที่สุด "ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง" อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนิกที่แท้จริง คือ ผู้ที่แสวงหาธรรมะด้วยตนเองและพบธรรมะด้วยตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พยายามพัฒนาธาตุพุทธะในตัวเอง
ลักษณะคำสอนของพระพุทธศาสนา
    ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา คือ เป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์ กล่าวคือ เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ทั้งความเป็นจริงและข้อธรรมได้ดีเยี่ยมเป็นพิเศษ เช่น วิเคราะห์จิตได้ละเอียดลอออย่างน่าอัศจรรย์ใจ วิเคราะห์ธรรมะออกเป็นข้อ ๆ อย่างละเอียดสุขุมและประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบที่แน่นแฟ้น หากจะพยายามอธิบายธรรมะข้อใดสักข้อหนึ่ง ก็จะต้องอ้างถึงธรรมะข้ออื่นๆ เกี่ยวโยงไปทั้งระบบ วิธีการวิเคราะห์ธรรมะอย่างนี้ บางสำนักของศาสนาฮินดูได้เคยทำมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำได้เด่นชัดอย่างธรรมะที่สอนกันในพระพุทธศาสนา จึงควรยกย่องได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์ และเมื่อกล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาไม่สนใจด้านอื่นๆ ทั้งมิได้หมายความเลยไปถึงว่าศาสนาอื่นๆ ไม่รู้จักวิเคราะห์ หามิได้ ต้องการหมายเพียงแต่ว่าพระพุทธศาสนาเด่นกว่าศาสนาอื่นๆ ในด้านวิเคราะห์เท่านั้น และถ้าหากศาสนาต่างๆ จะพึ่งพาอาศัยกันและกันก็พระพุทธศาสนานี่แหละสามารถให้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ข้อธรรมะได้อย่างดีเยี่ยม ในขณะที่ศาสนาอื่นๆ อาจจะบริการด้านอื่นๆ ที่ได้ปฏิบัติมาอย่างเด่นชัด เช่น ศาสนาพราหมณ์ในเรื่องจารีตพิธีกรรม ศาสนาอิสลามในเรื่องกฎหมาย เป็นต้น แต่ทั้งนี้แล้วแต่ว่าสมาชิกแต่ละคนของแต่ละศาสนาจะสนใจร่วมมือกันในทางศาสนามากน้อยเพียงใด
บ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
    แม้ชาวพุทธจะมีความสำนึกว่า สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีมาแล้วมากมายในอดีต และจะมีอีกมากมายต่อไปในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม คำสอนของอดีตพระพุทธเจ้าไม่เหลือหลักฐานไว้ให้ศึกษาได้อีกแล้ว ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะมาในอนาคตก็ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันจึงมาจากคำสอนของพระพุทธโคตมแต่องค์เดียว คำสอนของนักปราชญ์อื่นๆ ทั้งในและนอกพระพุทธศาสนา อาจจะเสริมความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ แต่ไม่อาจจะถือว่าเป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า ความรู้ที่พระองค์ทรงรู้จากการตรัสรู้นั้นมีมากราวกับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่พระองค์นำมาสอนสาวกนั้นมีปริมาณเทียบได้กับใบไม้เพียงกำมือเดียว พระองค์ไม่อาจจะสอนได้มากกว่าที่ได้ทรงสอนไว้ ดังนั้น หากมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น ให้ตกลงกันด้วยสังคายนา (ร้องร่วมกัน) คือ ประชุมและลงมติร่วมกัน ส่วนในเรื่องธรรมวินัยปลีกย่อย หากจำเป็นก็ให้ประชุมตกลงปรับปรุงได้ ดังนั้น บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งก็คือสังคายนา สังคายนาจึงกลายเป็นเครื่องมือให้เกิดการยอมรับร่วมกันในหมู่ผู้ยอมรับสังคายนาเดียวกัน แต่ก็เป็นทางให้เกิดการแตกนิกายโดยไม่ยอมรับสังคายนาร่วมกัน นิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้น เพราะการยอมรับสังคายนาต่างกัน และนิกายต่างกันนั้นก็ยอมรับคัมภีร์และอรรถกถาที่ใช้ตีความคัมภีร์ต่างกัน
   อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธแม้จะต่างนิกายกันก็ถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน ทำบุญร่วมกันได้ และร่วมมือในกิจการต่างๆ ได้ ผู้ใดนับถือพระพุทธเจ้าและแม้จะนับถือสิ่งอื่นด้วย เช่น พระพรหม พระอินทร์ ไหว้เจ้า หรือภูตผีต่างๆ ก็ยังถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน มิได้มีความรังเกียจเดียดฉันกันแต่ประการใด ดังนั้น การที่จะมีบ่อเกิดเพิ่มเติมแตกต่างกันไปบ้าง ตราบใดที่ยังยอมรับพระไตรปิฎกร่วมกันเป็นส่วนมาก ก็ไม่ถือว่าต้องแตกแยกกัน

ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู


ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี
ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู 



ในความหมายของปรัชญาจัดว่าเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญา

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ เมื่อบุคคลได้เกิดความสนใจและใฝ่หาความรู้จากวิชาปรัชญาก็ย่อมได้รับอัตถประโยชน์อย่างมากมาย พอสรุปได้ดังนี้

1. ปรัชญาสอนให้รู้จักความจริงอันสิ้นสุด เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่
2. ปรัชญาสอนให้รู้จักทฤษฎีแห่งความรู้ เช่น การวิจัยจะนำไปสู่การค้นหาคำตอบได้
3. ปรัชญาสอนให้รู้จักความดีและความถูกต้อง เช่น การทำประโยชน์ให้แก่สังคมถือว่าเป็นความดี
4. ปรัชญาสอนให้รู้จักความงาม เช่น การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของสังคม อันก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ
5. ปรัชญาสอนให้เกิดอุดมคติในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่การงาน เช่น สอนให้บุคคลเป็นครูในอุดมคติ หรือเป็นครูที่มีอุดมการณ์ที่จะช่วยพัฒนาชนบทอย่างแท้จริง
6. ปรัชญาสอนให้รู้จักประเมินคุณค่าในพฤติกรรมของบุคคลว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า ปรัชญาเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้ สำหรับคุณธรรมคุณงามความดีของบุคคลที่กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม

ดังนั้น คุณธรรมสำหรับครู ก็คือคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นครู ซึ่งได้กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมทีดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น ครูที่มีความเสียสละ ครูที่มีน้ำใจงาม ครูที่มีความเกรงใจ ครูที่มีความยุติธรรม ครูที่รักเด็กและรักเพื่อนมนุษย์ ครูที่มีความเห็นอกเห็นใจลูกศิษย์ และครูที่มีมารยาทที่งดงามถือว่าเป็นครูที่มีคุณธรรมทั้งสิ้น

โดยหลักการ ครูจะต้องเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีล เพราะสังคมได้ยกย่องให้ครูเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ประเสริฐและประสาทความรู้ สร้างความเป็นคนและอบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นเด็กที่ดีของสังคม ความจำเป็นที่จะต้องให้ครูเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีลดังกล่าวแล้วชี้ให้เห็นว่า ความเป็นนักปราชญ์ของครูนั้น ครูจะต้องมีความดีและถ่ายทอดดี สอนให้เด็กได้รับความรู้และสนุกมีชีวิตชีวา ส่วนความเป็นผู้ทรงศีลของครู ในฐานะที่ครูเป็นแม่แบบของชาติหรือเป็นต้นแบบในพฤติกรรมทั้งปวง จะช่วยให้ครูเป็นคนดี วางตัวดี เป็นที่เคารพและเป็นที่น่าเชื่อฟังของลูกศิษย์ จึงกล่าวได้ว่า ครูต้องมีคุณธรรม หรือคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าครูจำเป็นต้องมีคุณธรรม แต่คุณธรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอครูต้องเป็นนักปรัชญาด้วย การเป็นนักปราชญ์ของครูจะช่วยให้ครูมีความรู้รอบ และรอบรู้ มีทัศนะกว้างไกลและลึก มองเห็นชีวิตของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างทะลุปุโปร่ง และช่วงมองอนาคตของเด็กให้ทะลุปุโปร่งด้วย เพื่อจะได้ประคับประคองสนับสนุน และส่งเสริมให้เด็กเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มที่

จึงสรุปได้ว่าปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นครูเปรียบเสมือนกับโลหะธาตุที่มีเนื้อธาตุดี ย่อมเป็นโลหะที่ดี เช่นเดียวกันถ้าครูมีปรัชญาและคุณธรรมก็จะได้รับความยกย่องว่า เป็นครูดีของสังคมได้ (สงวน สุทธิ์เลิศอรุณ 2536:20–21)



หลักคุณธรรมสำหรับครู

ผู้บริหารการศึกษา ครูอาจารย์ อยู่ในฐานะที่เป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน นักศึกษา การที่ศิษย์จะเคารพนับถือและมีความศรัทธาต่อครูอาจารย์ของตนนั้น ครูอาจารย์ต้องมีคุณธรรมเป็นปัจจัยสำคัญ



คุณธรรม 4 ประการ

ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดี

ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความเชื่อ และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้มีความเจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว และจะช่วยใช้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังความประสงค์ ครู อาจารย์เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ควรถือปฏิบัติตามหลักคุณธรรมดังกล่าวเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ สถาบันวิชาชีพครูจะได้มีความเจริญก้าวหน้า สังคมและประเทศไทยจะได้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

นอกจากหลักธรรม 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว ผู้บริหาร ครู อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในสถาบันการศึกษา ยังต้องประพฤติและปฏิบัติตามหัวข้อธรรมดังกล่าว เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และนักเรียน อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การเรียนการสอนก็จะต้องจัดตามความมุ่งหมายของรัฐ

การศึกษาตามนัยแห่งแผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2520 เป็นกระบวนการต่อเนื่องกันตลอดชีวิต เพื่อมุ่งสร้างเสริมคุณภาพของพลเมืองให้สามารถดำรงชีวิตและทำประโยชน์แก่สังคม โดยเน้นการศึกษาเองสร้างเสริมความอยู่รอดปลอดภัย ความมั่นคงและความผาสุกร่วมกันในสังคมไทยเป็นประการสำคัญ จึงได้กำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาไว้ 9 ข้อ

ความมุ่งหมายของการศึกษา 9 ข้อ เน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่ดีงามของบุคคล เพื่อสร้างเสริมคุณภาพของพลเมือง ซึ่งอาจสรุปเป็น คุณลักษณะของคนไทยที่มีความจำเป็นจะต้องปลูกฝังให้ถึงพร้อมในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้



คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ

1. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง ความประพฤติ ทั้งทางกายและวาจาและใจ ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย ระเบียบประเพณีของสังคม และความประพฤติที่สอดคล้องกับอุดมคติหรือความหวังของตนเอง โดยให้ยึดส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว

2. ความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม หมายถึง การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่นหรือส่วนรวม ให้ยึดถือหลักเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของสังคมเป็นเกณฑ์

3. ความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาอาชีพ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่ทำให้เสียเวลาชีวิตและปฏิบัติกิจอันควรกระทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม

4. ความสำนึกในหน้าที่และการงานต่าง ๆ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและไม่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม

5. ความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล หมายถึง ความประพฤติในลักษณะสร้างสรรค์และปรับปรุงมีเหตุมีผลในการทำหน้าที่การงาน

6. ความกระตือรือร้นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความรักและเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง ความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการอยู่ร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด

7. ความเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หมายถึง ความมั่นคงและจิตใจ รู้จักบำรุงรักษากายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์แจ่มใสมีธรรมะอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคง

8. ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติเป็นที่พึ่ง ไม่ไว้วานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น

9. ความภาคภูมิและการรู้จักทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และทรัพยากรของชาติ หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเองและทรัพยากรของชาติ
10. ความเสียสละ และเมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และความสามัคคีกัน หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกถึงความแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น ในเรื่องของเวลากำลังกายและกำลังทรัพย์

คุณลักษณะ 10 ประการนี้ เป็นทั้งแนวทางและเป้าหมายในการจัดการศึกษาและอบรมสั่งสอนนักเรียน ของสถานศึกษาทุกระดับและเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษาต้องถือปฏิบัติด้วยเช่นกันผู้บริหารการศึกษาคือผู้ที่เป็นหัวหน้าสถานศึกษา คือ ครู อาจารย์ ผู้อำนวยการ และรวมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย หรือรองของตำแหน่งผู้บริหารทุกระดับเป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดการและพัฒนาจริยศึกษาในสถานศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะผู้บริหารการศึกษาเป็นทั้งผู้นำและเป็นผู้วางแผนการต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนทั้งหลายได้รู้จักและเข้าใจในหลักจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาในระดับใดดังนั้นผู้บริหารจึงมีคุณธรรมและ

จริยธรรมตามที่กำหนดไว้สำหรับอบรมสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาครบทุกข้อโดยเฉพาะคุณธรรมและจริยธรรมเป็นธรรมที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องปฏิบัติและตระหนักอยู่ในใจเสมอ คือ

1. การมีความละอายในการทำความชั่ว ทำความทุจริตทั้งปวงและเกรงกลัวและสะดุ้งกลัวต่อความชั่วทั้งปวง ซึ่งคุณธรรมข้อนี้ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบบเรียบร้อยไม่เดือดร้อนวุ่นวาย

2. การมีความอดทน รู้จักอดกลั้นต่อแความยากต่าง ๆ ที่คนอื่นมีต่อตนและมีความสงบเสงี่ยม และความอ่อนน้อมถ่อมตน

3. มีสติสัมปชัญญะเต็มเป็นอยู่ตลอดเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนสม่ำเสมอ ไม่มีการลืมตัวหรือละเลยต่อหน้าที่ต่าง ๆ

4. รู้จักอุปการะ คือ ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น นึกถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง พร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ผู้อื่น ในงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ไม่มีอคติในการปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานต่อศิษย์ หรือ นักเรียนและบุคคลอื่น ๆ

5. มีคุณธรรมประจำตน ในการที่ทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จ(อิทธิบาท) 4 ประการมีความพอใจและเอาใจใส่ในหน้าที่การงานของตน มีความพากเพียรในการประกอบการงาน เอาใจใส่ในการงานไม่ทอดทิ้งและหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลและวิธีที่จะทำให้การงานเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ

6. มีคุณสมบัติอันประเสริฐ (พรหมวิหาร) 4 ประการ คือ มีความเมตตา ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความกรุณา สงสาร คิดหาทางให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ มีมุทิตาปราบปลื้มยินดีในความสำเร็จ ความก้าวหน้าของผู้อื่นและมีอุเปกขา ความวางเฉย เห็นอกเห็นใจผู้ได้รับความทุกข์

7. มีคุณธรรมที่เป็นเครื่องผูกน้ำใจผู้อื่นและบุคคลทั่วไป(สังคหวัตถุ) ๔ ประการอยู่เป็นการประจำ คือ ให้ปันสิ่งของแก่บุคคลที่ควรให้ปัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อ แผ่แก่ผู้อื่นตามสมควรแก่กรณี(ทาน) มีวาจาอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อย(ปิยวาจา) ประพฤติตนเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นและเป็นคนไม่ถือตัวไม่ถือยศศักดิ์ เข้ากันได้กับผู้ร่วมงานทุกคน ตามความเหมาะสมตามฐานะของตน (สมานัตตา)

8. หมั่นศึกษาหาความรู้รอบตัว ให้มีความรอบรู้ เพื่อเป็นผู้ที่ทันต่อเหตุการณ์ บุคคลและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน้าที่การงาน(พาหุสัจจะ)

9. ประพฤติตนให้ห่างจากอบายมุขหรือทางแห่งความเสื่อมต่าง ๆ ไม่กระทำตนให้เป็นผู้เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น ผู้ร่วมงาน หรือนักเรียน นักศึกษาทุกคน และบุคคลทั่วไป (ชำเลือง วุฒิจันทร์; 2524 น. 117–119)

กรรมการฝึกหัดครู (กระทรวงศึกษาธิการ กรมการฝึกหัดครู 2515 : 14–15)ได้กำหนดเกี่ยวกับสมรรถภาพในการเป็นครูว่าครูที่มีสมรรถภาพสูงนั้นควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. ทำการสอนให้เป็นอย่างดี

2. สามารถทำการอบรม แนะแนว และปกครองได้เป็นอย่างดี

3. ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

4.สร้างสัมพันธภาพได้เป็นอย่างดีและร่วมมือกับชุมชน

5. เป็นครูชั้นอาชีพโดยรู้จัก

1. เพิ่มพูนความรู้ให้แก่อาชีพอยู่เสมอ

2. เป็นสมาชิกที่ดีของทางวิชาการ

3. ยึดถือแบบธรรมเนียมของผู้เป็นครู

4. ช่วยเหลือแนะนำครูใหม่

สาโรจ บัวศรี ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเป็นครูที่ดีในด้านสมรรถภาพว่าต้องมี

คุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. สามารถทำการสอนได้เป็นอย่างดี โดยรู้จัก
1.ใช้หลักจิตวิทยาแห่งการเรียน
2.ใช้หลักการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก
3.ทำบรรยากาศที่เหมาะสมที่จะเกิดการเรียนรู้
4.วางแผนสำหรับการสอนอย่างถี่ถ้วน
5.ใช้วิธีการสอนแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
6.ใช้แบบทดสอบชนิดต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมเพื่อวัดผลการเรียนวิเคาะร์แก้ไขและรู้จักวัดผลโดยทั่วไป 7.ปกครองชั้นและบริหารงานต่าง ๆ ของชั้นได้อย่างเรียบร้อยและราบรื่น ทำงานธุรการของโรงเรียนได้
2.สามารถอบรมแนะแนว และปกครองได้เป็นอย่างดี โดยรู้จัก
1.หลักการที่ว่า ถ้าทุกคนสร้างคุณธรรมและหลักธรรมต่าง ๆ ไว้ประจำตัวได้แล้ว
2.ใช้หลักการและวิธีการของการแนะแนว
3.สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบิดามารดาและผู้ปกครอง
4.ใช้ผลของการวิจัย และผลของการทดสอบต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ในการอบรม
3.สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี โดยรู้จัก
1. ร่วมในการวางแผนจัดการ กิจกรรมในหลักสูตร หรือกิจกรรมร่วมหลักสูตรชนิดต่าง ๆ
2. รับหน้าที่และภาวะในการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านั้นตามแผน
3. รักษาสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงานทั้งปวงของโรงเรียน
4.สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีและร่วมมือกับชุมชนเป็นอย่างดี โดยรู้จัก
1.ช่วยเหลือชุมชนในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
2.ทำให้ชุมชนเข้าใจโรงเรียน และสนับสนุนในทางที่เหมาะสม
3.หาความร่วมมือจากมารดาบิดาของผู้ปกครอง
4.หาบุคคลอื่น และสิ่งต่าง ๆ ในชุมชนที่เป็นประโยชน์ในการสอน
5.ร่วมมือกับทางราชการปรับปรุงชุมนุมชน
5.สามารถเป็นครูชั้นอาชีพ โดยรู้จัก
1.เพิ่มพูนความรู้ให้แก่อาชีพครู โดยการเขียน การพูด การค้นคว้า การวิจัยการเป็นสมาชิกที่ดีของสมาคม หรือสถาบันทางการศึกษา
2.ยึดถือขนบธรรมเนียมของผู้เป็นครู และช่วยเหลือส่งเสริมเพื่อนครู
3.ส่งเสริมตัวเองให้งอกงามในทางวิชาการ ศึกษาอยู่เสมอ
4.ช่วยเหลือแนะนำผู้ที่เข้ามาเป็นครูใหม่ในโรงเรียนของตน
ธนู แสวงศักดิ์ มีความเห็นว่าลักษณะของครูที่ดีนั้นควรมี 5 ประการ ดังนี้

1. มีความสัมพันธ์กับนักเรียนดี คือ ครูจะต้องสนใจ เอาใจใส่ต่อปัญหาของนักเรียน คอยตอบปัญหาให้กระจ่าง แนะแนว รู้จักระงับอารมณ์ อดทน วางตัวเหมาะสม ไม่สนิทสนมกับเด็กมากเกินไปไม่ทำให้ขายหน้า รู้จักเปิดโอกาสให้นักเรียนประเมินผลการสอน และให้กำลังใจให้นักเรียนอย่างมีเหตุผล

2. มีความรักในอาชีพครู มีส่วนช่วยแนะนำเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนอยู่เสมอ ทันสมัยต่อความรู้และกิจกรรมของครู

3.ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ มีความสามารถในอาชีพ

4. มีจรรยาครู ไม่แพร่ข่าวลือ ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ ไม่ขโมยผลงานของคนอื่น ไม่ให้ร้ายผู้อื่น มีมารยาทในการติดต่อสายงานทางด้านราชการไม่นำผู้อื่นมาพูดให้นักเรียนฟัง

5. มีคุณสมบัติส่วนตัวดี มีสติปัญญาดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดริเริ่ม มีความกระตือรือร้น เป็นกันเองกับนักเรียน

6. มีรูปร่างท่าทางดี มีใบหน้าสะอาด ตัดผมเรียบร้อยสุภาพ เสื้อผ้าสะอาดเรียบร้อย และเหมาะกับกาละเทศะ รักษาท่าทางให้สง่างาม ไม่สูบบุหรี่ หรือรับประทานอะไรระหว่างที่ทำการสอนอยู่