ประวัติพระพุทธศาสนา
|
| |
พระพุทธศาสนา (Buddhism) คือ ศาสนาที่ถือว่าธรรมะเป็นความจริงสากล ที่ใครก็ตามหากสิ้นกิเลสก็จะพลได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้ และสามารถตั้งพุทธบริษัทปัจจุบันขึ้นได้ คือ พระพุทธโคตม ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในบรรดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายที่ได้เคยตั้งพุทธบริษัทมาแล้ว และที่จะตั้งต่อไปในอนาคต ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากที่ตรัสรู้แต่ไม่มีบารมีพอให้ตั้งพุทธบริษัทได้ จึงให้ผลเฉพาะตัวเรียกว่า ปัจเจกพุทธเจ้า จึงเห็นได้ว่า จากความสำนึกดังกล่าวข้างต้น ทำให้ชาวพุทธมีใจกว้าง เพราะถือเสียว่าธรรมะมิได้มีในพระพุทธศาสนาของพระโคตมเท่านั้น แต่คนดีทั้งหลายก็อาจจะพบธรรมะบางข้อได้ และแม้แต่ชาวพุทธเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารถนาให้แสวงหาและเข้าใจธรรมะด้วยตนเอง พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง คือ ผู้ช่วยเกื้อกูลให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเองในที่สุด "ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง" อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนิกที่แท้จริง คือ ผู้ที่แสวงหาธรรมะด้วยตนเองและพบธรรมะด้วยตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พยายามพัฒนาธาตุพุทธะในตัวเอง |
คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา |
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 3 เดือน สาวกผู้ได้เคยสดับฟังคำสั่งสอนของพระองค์จำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนากัน ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ สอบปากคำกันอยู่ 7 เดือน จึงตกลงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นี่คือบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก ต่อมาเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง พระเถระผู้ใหญ่ก็ประชุมขจัดข้อขัดแย้งกัน เป็นสังคายนาต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้พระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าที่นับว่าใกล้เคียงที่สุด |
นิกายมหายาน | |
ฝ่ายมหายานมิได้ปฎิเสธพระไตรปิฎก หากแต่ถือว่ายังไม่พอ เนื่องจากเกิดมีความสำนึกร่วมขึ้นมาว่า นามและรูปของพระพุทธเจ้าเป็นโลกุตระ ไม่อาจดับสูญ สิ่งที่ดับสูญไปโดยการเผาเป็นเพียงภาพมายา พระธรรมกายของพระองค์อันเป็นธาตุพุทธะบริสุทธิ์ยังคงอยู่ต่อไป มนุษย์ทุกคนมีธาตุพุทธะร่วมกับพระพุทธเจ้า หากมีกิเลสบดบังธาตุพุทธะก็ไม่ปรากฏ กิเลสเบาบางลงเท่าใดธาตุพุทธะก็จะปรากฏมากขึ้นเท่านั้น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและมีความสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า หากได้ฝึกฝนชำระจิตใจจนบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยเมตตาบารมี พระโพธิสัตว์จึงมีมากมาย พระโพธิสัตว์ทุกองค์ย่อมเสริมงานของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระโพธิสัตว์จึงมีน้ำหนักเท่ากับพระไตรปิฎก เมื่อสำนึกเช่นนี้ ฝ่ายมหายานจึงมีคัมภีร์ในระดับเดียวกับพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นอีกมากและอาจจะเพิ่มต่อไปได้อีก หากยอมรับหรือมีศรัทธาต่อพระโพธิสัตว์ไม่เท่ากัน ความสำนึกและการแสดงออกก็ย่อมจะผิดเพี้ยนกันออกไปได้ ทำให้มีลัทธิต่างๆ มากมายในนิกายมหายาน และอาจจะเกิดใหม่ต่อไปได้อีก แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าเกิดการแตกแยกในศาสนาหรือนิกาย เพราะทุกลัทธิย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนามหายาน ด้วยเหตุผลเช่นนี้แหละฝ่ายมหายานจึงภูมิใจว่านิกายของตนใจกว้าง เป็นยานใหญ่ สามารถบรรทุกคนได้มาก และบันดาลใจให้ผู้มีจิตศรัทธาบำเพ็ญเมตตาบารมีได้อย่างกว้างขวาง อย่างที่มูลนิธิหัวเฉียวแห่งประเทศไทยพิสูจน์ตัวเองให้เห็นอยู่ |
การวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนา |
ผู้ใดสนใจคงได้ศึกษาตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนามาแล้วไม่มากก็น้อย จนพอจะสังเกตได้ว่า เมื่อกล่าวถึงธรรมะข้อใดในพระพุทธศาสนา ก็มักจะไม่กล่าวลอยๆ แต่จะต้องมีจำนวนเลขกำกับแสดงการวิเคราะห์หรือการจำแนกธรรมด้วยเสมอ เช่น อริยสัจ 4, มรรค 8, ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10, ศีล 227, มงคล 38, กรรมฐาน 40, เจตสิก 52, จิต 89, จิต121 เป็นต้น ให้สังเกตด้วยว่า การวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมิได้วิเคราะห์ชั้นเดียวแล้วจบ แต่มีการวิเคราะห์ต่อๆ ไปอีกหลายชั้นหลายเชิงเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ไม่ใช่เหมือนสายโซ่ แต่เหมือนอวนผืนใหญ่ที่ตาทุกตาของอวนมีสายโยงถึงกันได้ทั้งหมด จะขอยกให้ดูเป็นตัวอย่างการศึกษาเท่านั้น เช่น การวิเคราะห์จิต และเจตสิก เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับการมองตน รู้ตน และพัฒนาตน ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ธรรมะเรื่องใดเพิ่มเติมอีกเท่าใดก็ได้ตามความต้องการ |
ชีวประวัติของพระพุทธเจ้า |
ตั้งแต่ตรัสรู้ถึงปรินิพพานเป็นระยะเวลา 45 พรรษา พระองค์จาริกไปยังแว่นแคว้นต่างๆ ในชมพูทวีปตอนเหนือ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระองค์ พร้อมทั้งอบรมสาวกตั้งพุทธบริษัทขึ้นอย่างมั่งคั่ง ยากที่จะเรียงลำดับได้ว่าปีใดพระองค์เสด็จไป ณ ที่ใดและทรงสั่งสอนอะไรบ้าง เท่าที่นักวิจารณ์ได้พยายามวิจัยไว้พอจะเรียบเรียงได้ตามช่วงการเข้าพรรษาของพระองค์ในที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้พรรษาที่ 1 ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ณ คืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (กลางเดือน 6) 2 เดือนต่อมา คือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (กลางเดือน 8) ทรงเทศนาโปรดเบญจวัคคีย์ (คณะ 5 คน) ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ด้วยธรรมจักกัปปวัตนสูนร ต่อมาอีก 5 วันทรงเทศนาโปรดเบญจวัคคีย์ด้วยอนัตตลักขณสูตร วันต่อมาได้พระยสเป็นสาวก ทรงจำพรรษาที่เมืองพาราณสี แคว้นกาสี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตรประเทศ) แหล่งที่มา http://www.dhammathai.org/buddhism/buddhismhistory.php |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น